ประวัติวัดใต้โกสุม



 

ประวัติวัดใต้โกสุม



        วัดใต้โกสุม     รหัสวัด   ๐๔๔๔๐๓๐๑๐๐๓   ตั้งอยู่เลขที่ ๑   บ้านคุ้มใต้   
หมู่ที่ ๑๑    ตำบลหัวขวาง   อำเภอโกสุมพิสัย     จังหวัดมหาสารคาม      
สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย   ตั้งวัดเมื่อ   พ.ศ. ๒๔๑๐    ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  พ.ศ. ๒๔๕๖   ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่  ๖ ไร่   ๑ งาน   ๙๒   ตารางวา       โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๗๖๐  


        อาณาเขต
                -  ทิศเหนือ           จดฝั่งแม่น้ำชี   
                -  ทิศใต้              จดถนนสุนทรพิพิธ  
                -  ทิศตะวันออก     จดทางสาธารณประโยชน์  
                -  ทิศตะวันตก       จดทางสาธารณประโยชน์    

        มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๑ แปลง    เนื้อที่ ๑๐ ไร่     ๑ งาน     ๖๖ ตารางวา  
น.ส.๓ ก  เลขที่ ๕๘๖๕  

(ต้นฉบับดั้งเดิม) คัดลอกจากประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร  เล่ม ๑๒

        วัดใต้โกสุม   ตั้งอยู่เลยที่ ๑   บ้านคุ้มใต้  หมู่ที่ ๑๑   ตำบลหัวขวาง   อำเภอโกสุมพิสัย   จังหวัดมหาสารคาม        สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย       ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๖ ไร่    ๑ งาน   ๙๒ ตารางวาง        โฉนดที่ดินเลขที่  ๑๐๗๖๐     
อาณาเขต   ทิศเหนือ  จดฝั่งแม่น้ำชี     ทิศใต้  จดถนนสุนทรพิพิธ   ทิศตะวันออก
จดทางสาธารณประโยชน์   ทิศตะวันตก จดทางสาธารณประโยชน์     มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน    แปลง    เนื้อที่ ๑๐ ไร่   ๑ งาน  ๖๖ ตารางวา    น.ส. ๓ ก.  เลขที่ ๕๘๖๕   อาคารเสนาสนะประกอบด้วย  อุโบสถ  กว้าง ๔.๘๐ เมตร   ยาว ๑๒.๙๐ เมตร     
เป็นอาคารคอนกรีต    สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐       ศาลาการเปรียญ  กว้าง  ๑๖.๕๐ เมตร   ยาว ๒๗.๘๐ เมตร   เป็นอาคารคอนกรีต   สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕    กุฎีสงฆ์  จำนวน  ๖ หลัง     เป็นอาคารไม้ ๕ หลัง     และครึ่งตึกครึ่งไม้ ๑ หลัง
ศาลาเอนกประสงค์   กว้าง ๑๐ เมตร   ยาว ๑๔ เมตร   สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕     ศาลาบำเพ็ญกุศล  จำนวน  ๒ หลัง   นอกจากนี้มี  หอสมุด  ๑ หลัง   เป็นอาคารคอนกรีต.




ประวัติวัดใต้โกสุม
(อ้างอิงจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ประจำหมู่บ้าน)

        จากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา  สันนิษฐานว่า  วัดใต้โกสุม  เป็นวัดที่สร้างทับที่วัดเดิมของชุมชนที่รกร้างมาก่อนเนื่องจากมีซากอุโบสถหลงเหลืออยู่     แต่ปัจจุบันได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ทับบริเวณซากอุโบสถเดิม     เมื่อตั้งเมืองโกสุมแล้วมีกลุ่มคนมาตั้งบ้านเรือนบริเวณคุ้มกลาง  คุ้มสังข์  คุ้มใต้   ผู้คนทยอยมากันเรื่อยๆในปัจจุบัน   และได้บูรณะที่วัดเดิมเป็นวัดใต้โกสุมประมาณปี ๒๔๕๐  ยาคูสังฆราช (โส)  ได้สร้างกุฎีหลังเล็กๆอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชี  มีชาวบ้านคุ้มใต้อุปฐากจนนับว่าเป็นวัดได้และได้บูรณะมาเรื่อยๆ   เมื่อท่านมรณภาพแล้ว   หลวงปู่สุภีร์  จึงได้มาอยู่กุฎีหลังเดิมของท่าน   ต่อมาหลวงปู่สุภีร์ได้ย้ายไปอยู่วัดกลางโกสุม  จึงได้นิมนต์  หลวงปู่จันดี  มาจำพรรษาอยู่ที่วัดใต้โกสุม  หลวงปู่จันดีจึงได้พาญาติโยมสร้างกุฎีหลังใหม่  มีขนาดใหญ่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำชี  เมื่อสิ้นสมัยของท่านได้มี  หลวงปู่ศรีธรรมศาสน์  เป็นเจ้าอาวาส  ประมาณช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๐  และท่านได้นำพาชาวบ้านสร้างศาลาการเปรียญ (หลังเดิม)  เป็นศาลาสร้างด้วยไม้  จากนั้นท่านได้นำพาชาวบ้านบูรณะก่อสร้างเสนาสนะภายในวัดใต้โกสุมให้เจริญขึ้นเรื่อยมา   จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๗  ท่านจึงได้มรณภาพ  ชาวบ้านได้บรรจุศพสังขารของท่านไว้   และได้ไปนิมนต์  พระครูพิศาลศิริเวช (พระมหาเกษม)    มาเป็นเจ้าอาวาสและได้ทำการประกอบพิธีฌาปณกิจสังขารหลวงปู่ศรีธรรมศาสน์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙      จากนั้น
พระครูพิสารศิริเวช  ได้นำพาชาวบ้านคุ้มใต้สร้างอุโบสถจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๐    เมื่อสิ้นสมัยของพระครูพิสารศิริเวชแล้ว   ชาวบ้านได้ไปนิมนต์ พระสมุห์ชาย จิรติโก   มาจากวัดสังข์ทองวนาราม  เพื่อให้รักษาการแทนเจ้าอาวาส  ท่านอยู่ได้เพียงหนึ่งพรรษาก็ย้ายไปอยู่วัดกลางโกสุม   ชาวบ้านคุ้มใต้จึงได้นิมนต์  หลวงปู่ใส  อโสโก  มารักษาการแทนเจ้าอาวาสในปี พ.ศ. ๒๕๑๐    จากนั้นจึงได้บูรณะศาลาการเปรียญจากเดิมก่อสร้างด้วยไม้เป็นคอนกรีต   และในปี พ.ศ. ๒๕๑๕  โยมอาจารย์ชาย  แสนคำวัง  ได้มีศรัทธาสร้างหอระฆังถวายวัดใต้โกสุม     ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ชาวบ้านคุ้มใต้ได้รวมกำลังกายกำลังใจกำลังทรัพย์สร้างกำแพงวัดด้านหน้า (ทิศใต้) จนสำเร็จแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๘   ในช่วงนี้หลวงปู่ใสได้ออกจาริกธุดงค์   ทำให้วัดใต้โกสุมขาดเจ้าอาวาส    จึงได้นิมนต์หลวงปู่น้อยมาเป็นเจ้าอาวาสจนกระทั่งท่านได้มรณภาพลง    จึงได้นิมนต์หลวงปู่พรมมา  จนฺทวณฺโณ  ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทน  และได้มีการบูรณะก่อสร้างเสนาสนะภายในวัดใต้โกสุมขึ้นหลายอย่างคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓  ได้ทำการก่อสร้างเมรุบริเวณทิศเหนือของวัดติดกับฝั่งแม่น้ำชี   ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้ทำการบูรณศาลาการเปรียญโดยรื้อโครงสร้างทำใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลังและทำการขยายให้ใหญ่ขึ้นเนื่องจากว่าหลังเดิมคับแคบเกินไป     จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๑  ชาวบ้านร่วมใจกันอีกครั้งก่อสร้างกุฎีสงฆ์หลังใหญ่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กจนแล้วเสร็จและตั้งชื่อกุฎีว่า  กุฎีสามัคคีธรรม    และได้มีการพัฒนาก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาตามลำดับกำลังศรัทธาชองชาวบ้านโดยมีเจ้าอาวาสเป็นหลักในการดำเนินการต่างๆ   จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๒  หลวงปู่พรมมา  ได้ถึงแก่มรณภาพ     ชาวบ้านคุ้มใต้จึงได้ประชุมกันและมีมติให้ไปนิมนต์   พระมหาอนุศักดิ์  โชติวณฺโณ (จันทราลักษณ์)   ซึ่งเป็นลูกหลานชาวบ้านคุ้มใต้ที่ไปศึกษาและจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด  ให้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดใต้โกสุม  จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ท่านก็ได้ลาสิกขาบท   ชาวบ้านจึงได้นิมนต์พระโอภาส  โอภาโส  ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสต่อ  และท่านก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ราชทินนาม  พระครูรัตนวรานุยุต   จากนั้นท่านเจ้าอาวาสร่วมกับชาวบ้านทำการบูรณศาลาบำเพ็ญกุศลขึ้นใหม่เนื่องจากเกิดอุทกภัยน้ำท่วมและเซาะตลิ่งฝั่งแม่น้ำชีทำให้ศาลายุบลงไป  ชาวบ้านร่วมใจกันซื้อดินบริจาคเพื่อถมที่ที่โดนน้ำเซาะยุบลงไปและทำการบูรณะศาลาบำเพ็ญกุศลขึ้นใหม่จนแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙    ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖  มีการดำเนินการก่อสร้างศาลาเอนกประสงค์หลังคาโดมขึ้นบริเวณด้านหน้าอุโบสถ  และก่อสร้างกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก  จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๕๖    พระครูรัตนวรานุยุต   ได้ทำการลาสิกขาบท  เจ้าคณะผู้ปกครองคือเจ้าคณะตำบลหัวขวางจึงได้แต่งตั้ง    
พระวีระพล  วีรปญฺโญ     เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาส  จนถึงเดือน พฤษภาคม   พ.ศ. ๒๕๕๗   พระวีระพล    ได้ย้ายไปจำพรรษาที่อื่น   จึงทำให้วัดใต้โกสุมไม่มีเจ้าอาวาสดูแลวัดและเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน   คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านร่วมกับผู้ใหญ่บ้านคุ้มใต้และชาวบ้านคุ้มใต้จึงได้ประชุมหารือกันว่าจะไปนิมนต์พระที่ไหน รูปใดมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดใต้โกสุม  จนสรุปลงได้ว่าต้องไปนิมนต์ท่านเจ้าคณะตำบลหัวขวางมาพัฒนาวัดและเป็นที่พึ่งของชาวบ้านคุ้มใต้   ดังนั้นผู้ใหญ่บ้านคุ้มใต้พร้อมทั้งชาวบ้านคุ้มใต้จึงได้พากันไปนิมนต์ท่าน  เจ้าคณะตำบลหัวขวาง  เขต ๑    จากวัดกลางโกสุม 
ท่านพระครูอนุกูลสังฆกิจ ดร.  พร้อมกับแห่ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดใต้โกสุม  เมื่อวันที่ ๙  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๕๗   และในเดือนเดียวกัน ปีเดียวกัน  ของวันที่ ๑๓  ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา   ชาวบ้านจึงร่วมใจกันยกเสาเอกเสาโทสร้างกุฎีหลังใหม่สำหรับ
เจ้าอาวาส  ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
        จากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา  สันนิษฐานว่าวัดใต้โกสุมเป็นวัดที่สร้างทับที่วัดเดิมของชุมชนที่รกร้างมาก่อน   เนื่องจากมีซากอุโบสถหลงเหลืออยู่ แต่ในปัจจุบันได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ทับบริเวณซากอุโบสถเดิม  เมื่อตั้งเมืองโกสุมพิสัยแล้วได้มีกลุ่มคนมาตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในปัจจุบันนี้
        วัดใต้โกสุมได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐    โดย   “ญาคูสังฆราช”
(เป็นคำเรียกพระมหาเถระที่นำพาพัฒนาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดในขณะนั้นของขาวบ้าน)   จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่รุ่นเก่าที่พอจะลำดับเหตุการณ์พระมหาเถระ  พระเถระ  ที่เป็นเจ้าหัววัด หรือเจ้าอาวาส  รักษาการเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม   ดังนี้

-  หลวงปู่ญาคูสังฆราช (โส)                
                                           ประมาณช่วง         พ.ศ. ๒๔๕๐ – พ.ศ. ...............

-  หลวงปู่สุภีร์                        
                                           ประมาณช่วง         พ.ศ. ........... – พ.ศ. ...............

-  หลวงปู่จันดี                       
                                           ประมาณช่วง         พ.ศ. ........... – พ.ศ. ...............       

-  หลวงปู่ศรีธรรมศาสน์                               
                                           พ.ศ. ๒๔๗๐ – พ.ศ. ๒๔๙๗

-  พระครูพิสารสิริเวช (พม.เกษม) 
                                           ประมาณช่วง         พ.ศ. ........... – พ.ศ. ...............

-  พระสมุห์ชาย  จิรถิโก (พระครูธรรมาภิราม)   พ.ศ. ........... – พ.ศ. ...............

-  หลวงปู่ใส   อโสโก          ประมาณช่วง         พ.ศ. ๒๕๑๐ – พ.ศ. ...............

-  หลวงปู่น้อย                     ประมาณช่วง         พ.ศ. ........... – พ.ศ. ...............

-  หลวงปู่พรมมา  จนฺทวณฺโณ     
                                            ประมาณช่วง         พ.ศ. ........... – พ.ศ. ๒๕๔๒

-  พระมหาอนุศักดิ์                                             พ.ศ. ๒๕๔๓ – พ.ศ. ๒๕๔๖

-  พระครูรัตนวรานุยุต (โอภาส  โอภาโส)           พ.ศ. ๒๕๔๗ – พ.ศ. ๒๕๕๕

-  พระพีระพล  ธีรปญฺโญ                                    พ.ศ. ๒๕๕๖ – พ.ศ. ๒๕๕๗        

-  พระครูอนุกูลสังฆกิจ ดร.                                  พ.ศ.  ๒๕๕๗  ถึง  ปัจจุบัน


เสนาสนะประกอบด้วย
                ๑.  อุโบสถ   ขนาดกว้าง ๔.๘๐ เมตร   ยาว ๑๒.๙๐ เมตร    เป็นอาคารคอนกรีต  สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐   บูรณะใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕
                ๒.  ศาลาการเปรียญ    
                ๓.  ศาลาพักอาคันตุกะ
                  ศาลาอเนกประสงค์หลังคาโดม
                ๕.  ศาลาบำเพ็ญกุศล
                ๖.  ศาลาเอนกประสงค์ร่วมบำเพ็ญกุศล
                ๗.  อาคารสำนักงาน
                ๘.  ศาลาหลังเล็กหอฉัน
                ๙.  หอระฆัง
                ๑๐.  กุฎีสามัคคีธรรม
                ๑๑.  กุฎีเรือนไม้
                ๑๒.  กุฎีอาศรม
                ๑๓.  กุฎีภุมรินทร์อินทิรา
                ๑๔.  กุฎีประชาร่วมใจ (กุฎีเจ้าอาวาส)
                ๑๕.  หอน้ำประปา
                ๑๖.  ห้องน้ำอุบาสก อุบาสิกา
                ๑๗.  ห้องน้ำสาธารณะ
                ๑๘.  โรงครัว ๑ (หลังเก่า)
                ๑๙.  โรงครัวศาลาภัตตาประชานุสรณ์
                ๒๐.  มณฑปรูปเหมือนหลวงปู่ศรีธรรมศาสน์
                ๒๑.  เมรุ
                ๒๒. กุฎีไม้ทรงไทย  (เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น